วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติศาสตร์สเปน

ประวัติศาสตร์สเปน คือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับอาณาบริเวณส่วนใหญ่บนคาบสมุทรไอบีเรียในภูมิภาคยุโรปใต้ซึ่งมีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านยุครุ่งเรืองและยุคตกต่ำของจักรวรรดิสากลแห่งแรกของโลกจนกลายมาเป็นราชอาณาจักรสเปนในปัจจุบัน อันเป็นช่วงฟื้นฟูตนเองหลังสมัยการปกครองแบบเผด็จการของนายพลฟรังโกได้ผ่านพ้นไป มีอยู่หลายช่วงที่ประวัติศาสตร์การเมืองและการทหารของสเปนเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายและความพยายามที่จะจัดการกับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และความคิดความเชื่อในดินแดนของตนนั่นเอง
มนุษย์สมัยใหม่เข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นเวลานานกว่า 35,000 ปีมาแล้ว ตามมาด้วยคลื่นผู้รุกรานและผู้ตั้งอาณานิคมชนชาติต่าง ๆ ได้แก่ ชาวเคลต์ ชาวฟินิเชีย ชาวคาร์เทจ และชาวกรีกตลอดระยะเวลานับพัน ๆ ปี เมื่อถึงประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทั้งคาบสมุทรจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน ก่อนจะตกไปอยู่ภายใต้การปกครองจากชาววิซิกอท และในปี ค.ศ. 711 ชาวแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นชาวมุสลิม (ชาวมัวร์) ก็เริ่มเข้ามามีอำนาจ ในที่สุดอาณาจักรอิสลามก็ได้รับการสถาปนาขึ้นบนคาบสมุทรแห่งนี้และยืนหยัดได้เป็นเวลาประมาณ 750 ปี ซึ่งพื้นที่ที่ชาวมุสลิมครอบครองนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อัลอันดะลุส แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังเป็นช่วงที่เรียกว่า "เรกองกิสตา" หรือการยึดดินแดนคืนของชาวคริสต์ซึ่งค่อย ๆ รุกลงไปทางใต้ เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดเมื่อชาวคริสต์สามารถพิชิตที่มั่นแห่งสุดท้ายของชาวมุสลิมที่กรานาดาได้ในปี ค.ศ. 1492 จากนั้นราชอาณาจักรและรัฐคาทอลิกต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียก็ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งราชอาณาจักรคาสตีลและราชอาณาจักรอารากอนด้วย ซึ่งการรวมกันของอาณาจักรทั้งสองนี้จะนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นของรัฐชาติสเปนในเวลาต่อมา[1]
ปี ค.ศ. 1492 นี้ยังเป็นปีแห่งความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสในการค้นพบโลกใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งให้กับสเปน อีกหลายศตวรรษถัดมา สเปนในฐานะเจ้าอาณานิคมได้กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่มีความสำคัญมากสุดในเวทีโลก วรรณกรรมสเปนและศิลปะสเปนเข้าสู่ยุคทองในสมัยใหม่นี้เอง อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สเปนในช่วงนี้ก็มีจุดด่างพร้อยในเรื่องการขับไล่ชาวยิวและชาวมุสลิม การตั้งศาลไต่สวนทางศาสนา และการปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกา
ภายในอีกไม่กี่ศตวรรษ จักรวรรดิของสเปนในโลกใหม่ก็มีอาณาเขตแผ่ขยายจากแคลิฟอร์เนียไปจรดปาตาโกเนีย ในช่วงนี้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจากออสเตรียเข้ามามีอำนาจในราชบัลลังก์สเปนแล้ว (ตามมาด้วยราชวงศ์บูร์บงในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18) ในทวีปยุโรป สเปนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งทั้งในเรื่องลัทธิศาสนาและการแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเองหลายต่อหลายครั้ง คู่สงครามที่สำคัญได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศส ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในลักษณะนี้ทำให้สเปนสูญเสียดินแดนในครอบครองที่ในปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลีไป นอกจากนี้ ผลเสียจากสงครามเหล่านั้นก็ทำให้สเปนต้องตกอยู่ในสภาวะล้มละลายอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไป อำนาจและเกียรติภูมิของจักรวรรดิก็เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 การถูกฝรั่งเศสเข้ารุกราน การเรียกร้องเอกราชของดินแดนอาณานิคม และความพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาก็ทำให้สเปนเสียอาณานิคมของตนไปเกือบทั้งหมด
ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มความซับซ้อนและความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นำสเปนไปสู่การนองเลือดในสงครามกลางเมืองซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายชาตินิยมที่มีนายพลฟรันซิสโก ฟรังโกเป็นผู้นำ (เผด็จการ) สูงสุด สภาพบ้านเมืองโดยทั่วไปในช่วงนี้จึงค่อนข้างสงบและมีความมั่นคง (ยกเว้นการก่อวินาศกรรมของขบวนการเรียกร้องเอกราชในแคว้นบาสก์) สเปนประกาศตนเป็นกลางตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแม้จะมีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าทึ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษ 1970 แต่ก็ต้องถูกโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมและการเมืองจากประชาคมโลก ฟรังโกปกครองประเทศในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1975 การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยจึงเริ่มขึ้น ประเทศสเปนในช่วงเวลาปัจจุบันนี้มีพัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและทันสมัย แม้จะมีความตึงเครียดหลงเหลืออยู่ก็ตาม (เช่น กับผู้อพยพชาวมุสลิมและในแคว้นบาสก์) โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพเติบโตเร็วที่สุดในยุโรป การเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%99

1 ความคิดเห็น: